วินิจฉัยโรคจากการทำงาน
โรคจากการทำงานนั้น มีกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงแรงงานเรื่องกำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน พ.ศ. 2550 www.mol.go.th ซึ่งแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ๆ คือ โรคที่เกิดจากสารเคมี มี 38 ข้อ โรคที่เกิดจากสาเหตุทางกายภาพ มี 10 ข้อ โรคที่เกิดจากสาเหตุทางชีวภาพ โรคระบบหายใจที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน มี 10 ข้อ โรคผิวหนังที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน มี 3 ข้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ และโครงสร้างกระดูกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน หรือสาเหตุจากลักษณะงานที่จำเพาะหรือมีปัจจัยเสี่ยงสูงในสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โรคมะเร็งจากการทำงาน มี 16 ข้อ และสุดท้ายคือ โรคอื่นๆ ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทำงาน
ตามนิยามขององค์การอนามัยโลกและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ กำหนดว่า โรคจากการทำงานคือโรคที่เกิดจากปัจจัยในที่ทำงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าไม่มีปัจจัยนี้ ก็ไม่ทำให้เกิดโรค และโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานคือ ปัจจัยในที่ทำงานเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งของโรค ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยปัจจัยในที่ทำงานจะเป็นตัวกระตุ้นให้โรคแสดงอาการออกมา
การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน นั้น แพทย์ทั่วไปจะยึดหลัก 9 ขั้นตอนในการวินิจฉัยโรคของกรมการแพทย์คือ
1. มีโรคเกิดขึ้นจริง
2. มีสารเคมีหรือกระบวนการ (agents) ที่ทำให้เกิดโรคอยู่ในสถานที่ทำงานของผู้ป่วยนั้น
3. มีการสัมผัสสิ่งคุกคามนั้น ซึ่งจะได้จากการซักประวัติการทำงาน การเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อม ประวัติการใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคล
4. มีลำดับก่อนหลังการเกิดโรค ได้แก่มีการสัมผัสก่อนจึงจะมีอาการ
5. การสัมผัสนั้นมีระยะเวลานานพอ หรือมีความเข้มข้นพอที่จะทำให้เกิดโรค โดยดูจากข้อมูลทางระบาดวิทยา การเก็บตัวอย่างพิเศษอื่นๆ
6. มีข้อมูลทางวิทยาการระบาดสนับสนุน
7. ได้ทำการวินิจฉัยแยกสาเหตุของโรคที่เกิดนอกเหนือจากการทำงานแล้ว
8. ได้พิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนหรือคัดค้าน เช่นอาการของโรคอาจดีขึ้นเมื่อไม่มีการสัมผัสหรือเมื่อผู้ป่วยหยุดงาน
9. นำปัจจัยทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อการวินิจฉัย